Skip to main content

ผมจบสายนี้มาจะทำงานในอุตสาหกรรมเกมได้ไหม ? หนูพึ่งจบสาขานี้มาค่ะ ไม่เกี่ยวกับสายทำเกมเลย จะเข้ามาทำงานในสายงานนี้ได้ไหมคะ ? นี่เป็นคำถามส่วนใหญ่ที่พบเจอได้ในกลุ่มนักพัฒนาเกมของไทยอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่นัก เพราะคงเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปซึ่งไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเกม จะเข้าใจว่า “การทำเกม นั้นคืออะไร ?”

จริงๆ แล้วเราอาจไม่สามารถกำหนดได้ด้วยซ้ำว่า การทำเกมเกมหนึ่ง จำเป็นต้องใช้ใคร หรือองค์ประกอบความรู้อะไรบ้าง จนกว่าจะออกแบบโปรเจคเกมโปรเจคนั้น ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างเสียก่อน เหตุผลที่ผมพูดแบบนี้ก็เพราะว่า

“เกม” คือสื่อรูปแบบหนึ่ง ที่รวมองค์ความรู้ต่างๆ มากมายเอาไว้รวมกัน ไม่ว่าจะเรื่องเทคนิคโปรแกรมมิ่ง กราฟฟิกดีไซต์ UX/UI บทเนื้อเรื่อง จิตวิทยา พฤติกรรมผู้บริโภค การตลาด ดนตรี ไปจนถึงเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน

จริง ๆ แล้วเกมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนูษย์มายาวนานเกินกว่าจะนึกได้

เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ที่จะแนะนำว่าคุณเรียนจบทางนี้มา แล้วจะทำงานในอุตสาหกรรมเกมได้ไหม เพราะทุกสิ่งที่คุณเรียนมา นั้นแทบจะต้องใช้ในอุตสาหกรรมเกมแทบทั้งสิ้น !!

แล้วอะไรละที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณเหมาะจะทำงานในอุตสาหกรรมเกม เมื่อทุกองค์ความรู้ นั้นสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาเกม หรือทำงานเกี่ยวกับเกมได้ทั้งหมด ? สำหรับตัวผู้เขียนแล้ว คำตอบที่ผมพอจะบอกได้ว่าคุณเหมาะไม่เหมาะ นั่นก็คือ “ความชอบ” ครับ

เชื่อไหมว่ามีคนอยากสร้างเกม โดยที่เขาไม่ได้ชอบเล่นเกม และมีคนอยากเข้ามาในอุตสาหกรรมเกม โดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองควรทำในส่วนไหน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และเชื่อว่าอนาคตก็จะเกิดขึ้นต่อไป เพราะคำว่าเกมที่เราเห็น มันเป็นดั่งสื่อที่เกิดขึ้นมาให้เราได้เล่น ได้สัมผัส มันเปรียบได้เป็นดั่งหน้าฉากที่ทุกคนต่างเห็น ต่างได้ลิ้มลอง แต่กลับไม่เคยลงลึกเข้าไปภายใต้หลังฉาก ฉากนั้นเลยว่ามีอะไรอยู่บ้าง และหน้าฉากที่เราเห็นนั้น มันก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นความชอบ และดึงให้เราอยากไปอยู่ในจุดจุดนั้นบ้าง จุดที่ถูกเรียกว่า อุตสาหกรรมเกม

ดังนั้นผมเลยพูดได้เต็มปากว่า ถ้าคุณชอบ และรักในการเล่นเกม ไม่ว่าคุณจะจบสายไหนมา ขอแค่คุณกล้า และเข้าใจตัวเองมากพอ ว่าคุณนั้นชอบอะไรกันแน่

เช่น คุณจบศิลปกรรมมานะ คุณชอบเล่นเกม คุณชอบฉากสวยๆ คุณก็สามารถทำงานในฐานะเกมอาร์ทติสได้ (แต่จะทำในส่วนไหน ก็ดูกันอีกที ตามงานที่มี และความสามารถของคุณเอง) หรือถ้าคุณจบ ICT มา คุณเขียนโค้ดไม่เป็น แต่เข้าใจมัน คุณวาดรูปไม่เป็น แต่ใช้ Tool ได้หมด คุณมีแต่ทฤษฎี คำวิจารณ์ เพราะคุณเข้าใจหลักของความสนุก หรือความงดงาม คุณก็สามารถเป็น Game Tester ได้ เป็นต้น

เอาละ ผมจะขอมาเข้าเรื่องเกี่ยวกับหัวข้อของบทความนี้แบบตรงๆ กันบ้าง กับอาชีพอย่างเกมโปรแกรมเมอร์ ผมเชื่อว่าอาชีพอย่างเกมโปรแกรมเมอร์ที่ทุกคนวาดฝันกัน น่าจะเป็นสายอาชีพที่เท่ห์มากๆ และการเขียนเกมนั้นน่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ผมขอบอกเลยว่า ต่อให้คุณเขียนเกมขนาดเล็กแค่ไหน มันก็ไม่ได้ง่ายเหมือนตอนที่คุณเล่นเลยสักนิด… อาชีพอย่างเกมโปรแกรมเมอร์สำหรับผม นั้นเปรียบได้ดั่งช่าง ผู้มีความสามารถตั้งแต่สร้างสรรค์ ซ่อมแซม ไปจนถึงทำลาย ใช่ครับ ทำลายยย !!

แต่วันนี้ผมจะไม่ขอเจาะลึกอะไรเกี่ยวกับสายอาชีพนี้มากไปกว่านี้ครับ เพราะเชื่อว่าประมาณที่ผมเล่ามา น้องๆ หรือใครที่กำลังอยากทำงานในอุตสาหกรรมเกม ก็พอจะเห็นภาพเกี่ยวกับการทำเกมขึ้นมาบ้างแล้ว และน่าจะพอรู้กันแล้วว่าถ้าอยากทำงานในอุตสาหกรรมนี้ควรทำอย่างไรต่อ เพราะฉะนั้นผมจะขอเข้าประเด็นกันดื้อๆ ตรงนี้เลย กับเรื่อง “โปรแกรมเมอร์จบใหม่ ที่อยากมาทำเป็น เกมโปรแกรมเมอร์” โดยการซอยหัวข้อย่อยๆ ออกเป็น 5 หัวข้อให้อ่านกันเพลินๆ ดังต่อไปนี้

เกมไม่ใช่โปรแกรม !! มันมีมากกว่าแค่ถูกผิด และใช้งานได้…

คำแนะนำแรกนี้ ไม่ใช่แค่แนะนำเหล่าโปรแกรมเมอร์จบใหม่เพียงอย่างเดียว แต่แนะนำเหล่าเกมโปรแกรมเมอร์ทุกคน เพราะหลายครั้งเหลือเกิน ที่ผมมักจะเจอโปรแกรมเมอร์ที่คิดแค่ว่า มันใช้งานได้แล้วคือสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกมมีองค์ประกอบด้านสื่ออารมณ์อยู่ ซึ่งบางครั้งเราไม่สามารถทำแค่เพียงใช้งานได้เท่านั้น แต่มันต้องทำให้รู้สึกประทับใจ โดดเด่น เห็นแล้วว้าวววว หรืออารมณ์ด้านอื่นๆ ดังนั้น บางครั้งหากดีไซเนอร์ หรือ PM มีคอมเมนต์อยากให้คุณแก้งาน โดยเรื่องที่แก้อาจเป็นเรื่องเล็กๆ ที่คุณมองแล้วมันสิ้นเปลือง หรือทำให้ระบบช้าลง อยากให้คุณพยายามเข้าใจพวกเขา วางแค่เรื่องผิดถูกของระบบลงไปหน่อย และหาวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อให้ผู้เล่นที่เห็น เขารู้สึกว่ามันยอดเยี่ยม ไม่ใช่แค่รู้สึกว่ามันทำงานได้นะ ก็พอ

บางครั้งองค์ประกอบภายในก็มีอะไรซับซ้อน

คุณไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดซะทุกเรื่อง ให้ตำแหน่งอื่นเขาทำหน้าที่บ้าง !!

อีกเรื่องหนึ่งที่โปรแกรมเมอร์มักจะเป็นกันอยู่บ่อยๆ คือไม่ว่าจะระบบอะไร เรื่องไหนๆ ก็จะดันให้เขียนโค้ดขึ้นมาเองทั้งสิ้น ใช่ครับว่าบางครั้งมันก็ดี มันก็ยอดเยี่ยม แต่บางเรื่อง มันอาจทำให้ขาดเสน่ห์บางอย่างไป ซึ่ง เกม เป็นสิ่งที่ต้องโดดเด่นด้วยเสน่ห์ ผมจำได้ว่าผมเคยมีปัญหากับกราฟฟิก และโปรแกรมเมอร์ เมื่อผมบอกกราฟฟิกว่า ผมอยากให้ไฟกระพริบได้หลากหลายแบบ โปรแกรมเมอร์ผสมเสนอให้วางภาพใจในทุกสุดที่จะเกิดไฟ แล้วเขาจะเขียนระบบให้เกิดการสุ่มเปิดไฟให้ ซึ่งเมื่อฟังแล้วมันก็ดูว้าวนะครับ ปัญหาก็คือ วิธีนั้นกราฟฟิกผมต้องวางตำแหน่งที่จะมีไฟปรากฎขึ้นมากว่า 100 จุด และวางไปทีละจุด แถมต้องมาเสี่ยงรอดูว่าระบบจะสุ่มไฟที่สวยๆ ออกมาให้ไหม แล้วก็ต้องมาดูอีกว่าการคำนวณเปิดไฟกว่า 100 จุดที่เป็นเครื่องประดับนี้ จะทำให้เกมช้าลงหรือมีปัญหาไหม

เพราะบางเรื่องควรเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ไม่ใช่แค่โค้ด

เพราะบางเรื่องควรเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ไม่ใช่แค่โค้ด

ผมเลยเสนอให้เขาปรับแก้ระบบใหม่ โดยให้กราฟฟิกผมทำภาพไฟที่จะเปิดออกมาทั้งหมด 5 ชุด และให้ระบบเปิดปิดภาพทั้ง 5 สลับไปมาก็พอ กลายเป็นว่ากราฟฟิกของผมทำงานได้ง่ายลง ระบบไม่ต้องใช้คำนวณอะไรมากมาย แถมยังทำงานออกมาได้ดี เพราะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านความงดงามเป็นผู้จัดการให้

ศึกษาให้เยอะ เทคโนโลยีมันเร็ว

อีกหนึ่งปัญหาที่ผมมักจะเจอบ่อยๆ คือเราไม่รู้เกี่ยวกับ Tools ที่เรามี หรือเทคโนโลยีที่เราใช้อย่างถ่องแท้เลย ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที หรือไม่รู้เงื่อนไข หรือข้อจำกัดที่เราต้องรู้ ปัจจุบันเทคโนโลยีออกใหม่มีแทบจะทุกวัน การที่เรารู้ และเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ก่อนใคร ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่รู้อย่างแน่นอน

ถ้าอธิบายมันยาก ก็ฝึกเขียนแผนภาพมาอธิบายบ้างก็ได้

เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยถูกว่ากล่าว หรือถูกเตือนอยู่บ่อยๆ ว่าพูดไม่รู้เรื่องบ้าง หรือพูดออกมาเป็นภาษาต่างดาวบ้างถูกไหม มันไม่แปลกที่คนทั่วไปจะไม่เข้าใจภาษาเทคนิค หรือศัพท์เฉพาะต่างๆ ดังนั้นการอธิบายอะไรสักอย่างหนึ่งของโปรแกรมเมอร์ จึงไม่ใช่แค่บอกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ต้องอธิบายว่ามันคืออะไร แล้วถึงจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก แต่เชื่อไหมว่าทุกสิ่งที่อธิบายยากๆ นี้ สามารถอธิบายกระบวนการทำงาน รวมถึงไอเดียได้ง่ายมากๆ แค่เรารู้จักฝึกเขียนแผนภาพประกอบ ร่วมไปกับการอธิบายเท่านั้นเอง โดยแผนภาพที่ผมหมายถึงนี้ ก็คือพวกไดอะแกรมต่างๆ ที่ถ้าเราฝึกใช้มันดีๆ นอกจากจะอธิบายคนอื่นเข้าใจแล้ว บางครั้งยังเป็นตัวช่วยจัดระเบียบความคิดให้ได้อีกด้วย

เดฟสื่อสารไม่รู้เรื่อง ? แก้ด้วยแผนภาพให้เข้าใจกันง่ายๆ จะดีกว่าไหม ?

ไม่ต้องกลัวบัค มันมีอยู่ทุกที่

ข้อสุดท้าย คือจงอย่ากลัวทำผิด (บัค) เพราะมันเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ไม่เคยที่ใครจะไม่เคยทำผิด แต่เมื่อผิดแล้ว เราก็ต้องรู้จักแก้ไข จดจำ และพัฒนา ยิ่งคุณผิดมากเท่าไหร่ คุณจำมากเท่าไหร่ และคุณพัฒนามากขึ้นเท่าใด ก็ล้วนเป็นตัวช่วยที่จะทำให้คุณแกร่งขึ้นในทุกๆ วัน จำไว้ครับ บัคเกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ ถ้าไม่มีบัค นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้สร้างสรรค์อะไรขึ้นมาเลย…

ยังไงก็แล้วแต่คำว่าการเขียนโปรแกรมคือการเพิ่ม Bug เข้าระบบก็เป็นเรื่องจริงเสมอมา

ข้อมูลผู้เขียน
BorntoDev Writer (คุณ Tor @ Game Project Manager)

อย่าลืมม ! ติดตามข่าวสารสาระด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ และ ไอเดียใหม่ๆ ได้แล้วที่นี่ Facebook

BorntoDev

Author BorntoDev

BorntoDev Co., Ltd.

More posts by BorntoDev

Leave a Reply

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้สำหรับการติดตามทางการตลาด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นในการใช้งานเพื่อการวิเคราะห์ และ นำเสนอโปรโมชัน สินค้า รวมถึงหลักสูตรฟรี และ สิทธิพิเศษต่าง ๆ คุณสามารถเลือกปิดคุกกี้ประเภทนี้ได้โดยไม่ส่งผลต่อการทำงานหลัก เว้นแต่การนำเสนอโปรโมชันที่อาจไม่ตรงกับความต้องการ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า